วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ที่มาและวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรม

ภาษาไทย เป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำชาติ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนานคู่กับชาติไทยหลายยุคหลายสมัย เมื่อพิจารณาในด้านคุณค่าของภาษาไทยฐะปะนีย์ นาครทรรพ ได้ประมวลไว้เป็นคำคล้องจอง 8 ประการ คือ ใช้เป็นสื่อกลางเสริมสร้างวัฒนธรรม สำแดงเอกลักษณ์ พิทักษ์เอกราช ประสาทวิทยา พัฒนาความคิดกอบกิจการงาน ประสานสามัคคี (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2539 : 142-150)


ปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทยเกิดจากการบริหารวิชาการที่ไม่ให้ความสำคัญแก่วิชาภาษาไทย หลักสูตรที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับเวลา ระบบการวัดผลที่ต้องให้นักเรียนสอบผ่านแบบเรียนไม่เหมาะสม ครูผู้สอนขาดศิลปะการสอนที่จะเอื้อให้ภาษาไทยสนุกสนานน่าสนใจพื้นฐานภาษาไทยในด้านต่างๆ ของนักเรียนส่วนใหญ่ค่อนข้างไม่ดี นักเรียนสนใจและให้ความสำคัญวิชาภาษาไทยน้อย สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหานั้น ที่ประชุมเสนอว่า ควรฝึกทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน ให้มากขึ้น จัดกิจกรรมประกวดแข่งขันต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนวิชาภาษาไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ เน้นให้เห็นว่าภาษาไทยเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของชาติ ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองและครูผู้สอนวิชาอื่นๆ ให้ส่งเสริมให้นักเรียนสนใจภาษาไทย และเป็นแบบอย่างการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ครูต้องรักและภูมิใจภาษาไทย ทำตัวให้เป็นที่ศรัทธาของนักเรียน ฝึกให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ อย่างมีเหตุผลและมีวิจารณญาณ โดยให้ตัวอย่างแสดงการวิเคราะห์ ฝึกให้นักเรียนหัดฟังเรื่องสั้น ๆ ง่าย ๆ ไปสู่เรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ฝึกให้สรุปประเด็นสำคัญที่ฟังโดยการให้พูดหรือเขียน ปรับปรุงหลักสูตร วิธีสอน แบบเรียน และอุปกรณ์การสอน ควรจัดให้มีศูนย์ผลิตอุปกรณ์การสอนภาษาไทย และใช้โสตทัศนศึกษาช่วยในการสอนควรจัดทำห้องปฏิบัติการทางภาษา และห้องสมุดภาษาไทย จัดทำชุดการสอนเสริมจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวิชาภาษาไทยจัดกิจกรรมนอกสถานที่


สำนักทดสอบทางการศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2536 ทั่วประเทศด้วยแบบทดสอบความสามารถในการส่งสารและรับสาร พบว่า นักเรียนมีความสามารถในวิชาภาษาไทยระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายเขตการศึกษา พบว่า เขตการศึกษา 7 (จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง รวมทั้งกำแพงเพชร) มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละต่ำกว่าระดับประเทศ และได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้บริหารและครู สรุปได้ว่า ควรพัฒนาครูให้เห็นความสำคัญของวิชาภาษาไทยมีความใฝ่รู้ สอนให้ตรงจุดประสงค์ วัดผลเชิงปฏิบัติ จัดกิจกรรมเสริมทักษะความสามารถของนักเรียนในการส่งสารให้มากขึ้น และใช้สื่อและนวัตกรรมทางการศึกษาเสริมทักษะนักเรียน (สำนักทดสอบทางการศึกษา. 2538 : 2 - 5)


จากปัญหาและข้อค้นพบดังกล่าว ผู้วิจัยจึงศึกษาค้นคว้าหาวิธีการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และเน้นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น โดยยึดเป้าหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ. 2544 เป็นสำคัญ


วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมการสอนภาษาไทยจากวรรณกรรมพื้นบ้านไตรตรึงษ์
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหลังเรียนกับก่อนเรียนด้วยนวัตกรรมการสอนภาษาไทยจากวรรณกรรมพื้นบ้านไตรตรึงษ์ 3. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้นวัตกรรมการสอนภาษาไทยจากวรรณกรรมพื้นบ้านไตรตรึงษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น